The Prachakorn

รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยในเขตเมือง


ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น

18 ตุลาคม 2564
609



ประเทศไทยในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่บรรเทาลง กรมควบคุมโรคได้แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุหรือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราป่วยตายสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นในทุกระลอกของการระบาด รวมถึงระลอกปัจจุบัน ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยตายสูงถึง 7.76%1 ในสถานการณ์ที่ความเสี่ยงในการใช้ชีวิตสำหรับคนทุกเพศทุกวัยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว ขาดคนดูแล และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมได้ด้วยตนเอง จากรายงานข่าวทางสื่อต่างๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังที่ติดเชื้อ เป็นภาพที่สังคมต้องกลับมาคิดกันว่า จะหาทางช่วยเหลือและดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังนี้อย่างไร

ขนาดครัวเรือนของคนไทยที่เล็กลงในปัจจุบันได้ทำให้โครงสร้างครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไป รูปแบบการอยู่อาศัยของครัวเรือนไทยที่พบเห็นมากขึ้นในปัจจุบัน คือ “ครัวเรือนผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นครัวเรือนที่มีแต่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการอาศัยอยู่คนเดียว อยู่กันเฉพาะสามีภรรยา หรืออาศัยอยู่กับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่สูงอายุแล้ว ครัวเรือนผู้สูงอายุดังกล่าวได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในพื้นที่เมือง (ในเขตเทศบาล) และพื้นที่ชนบท (นอกเขตเทศบาล) จากการศึกษาเรื่อง “รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยในเขตเมืองเพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยและการดูแลที่เหมาะสม” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติผ่านสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2539 2550 และ 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนผู้สูงอายุโดยเฉพาะครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 6.5 ในปี 2562 และครัวเรือนที่อยู่กันเฉพาะผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 6.2 ในปี 2561

รูป: ร้อยละของครัวเรือนผู้สูงอายุในเขตเมือง
ที่มา: วิเคราะห์จากข้อมูลสำ.รวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2539 2550 และ 2561

ที่อยู่อาศัยของครัวเรือนผู้สูงอายุในเขตเมือง

ประเภทที่อยู่อาศัย เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งบริการทางสุขภาพและบริการทางสังคมอื่นๆ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวในเขตเมืองส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยวลดลง ในขณะที่มีการอาศัยอยู่ในห้องชุด (อะพาร์ทเมนต์ แฟลต คอนโดมิเนียม) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากไม่ถึงร้อยละ 1 ในปี 2539 ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3 ในปี 2561 ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวในเขตเมืองจะมีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ทั้งทางด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงการมีสวัสดิการที่จำเป็น

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า ควรจัดให้มีการดูแลและบริการผู้สูงอายุในเขตเมือง ในลักษณะที่สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัยได้อย่างไร ทั้งในด้านสาธารณสุข ที่เป็นการสนับสนุนให้มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงอาสาสมัครและเครือข่ายเพื่อนบ้าน ให้สามารถจัดบริการและดูแล รวมถึงช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มผู้สูงอายุในเขตเมืองอย่างทั่วถึง ทางด้านสังคม การส่งเสริมระบบบริการแบบเคลื่อนที่สำ.หรับผู้สูงอายุในเขตเมือง หรือนำบริการทางสังคมเข้าถึงประชาชน

การแพร่ระบาดของโควิด–19 อาจส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัยของคนในสังคม ถือได้ว่าเป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในระยะยาว อาจเป็นช่วงที่ช่วยขยายความชัดเจนของสังคมในอนาคตว่าสิ่งใดที่ยังขาด สิ่งใดที่จำเป็น และสิ่งใดที่ไม่เหมาะสม “รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยในเขตเมือง” ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาที่ผ่านมาและกำลังจะเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะต้องติดตามกันต่อไป

ที่มา: https://www.freepik.com/vectors/business>Business vector created by pch.vector สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2564


อ้างอิง

  1. ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค. 2564. รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. สืบค้นจาก https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/situation/situation-no612-060964.pdf. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2564

 

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ใครจะเป็นคนดูแลเรา

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th