นี่คือคำพูดที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ หลังจากที่พ่อของผู้เขียนกระดูกสะโพกแตก เรียกปอเต๊กตึ๊งให้ช่วยไปส่งที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด ณ ปี 2560
คนไทยที่อยู่ในฐานะชนชั้นกลางหรือต่ำกว่านั้น เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มักถูกบอกให้ทน เนื่องจากคนยากจนนั้นมักไม่ได้ซื้อประกัน หรืออาจไม่รู้ถึงสิทธิตัวเองว่าสามารถใช้สวัสดิการอะไรของรัฐได้บ้าง ถ้าเป็นอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บที่ถึงขั้นต้องผ่าตัด บางคนอาจทำใจไม่ผ่า หรือไม่ก็ประกาศขอบริจาคค่ารักษาจากโซเชียล ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
แต่ในประเทศอื่น ๆ นั้นมีระบบสุขภาพที่แตกต่างจากบ้านเราอย่างไร?
วันนี้ผู้เขียนจะมาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น
ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า ตัวผู้เขียนเองได้ทุนมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น อยู่ที่นี่มาโดยรวมแล้วประมาณ 9 ปี แต่ตัวผู้เขียนเองนั้นเพิ่งทำความรู้จักกับระบบสุขภาพของญี่ปุ่นอย่างจริง ๆจัง ๆ ก็เมื่อไม่นานมานี้เอง เมื่อสิ้นปี 2563 ผู้เขียนเพิ่งได้รับการผ่าตัดเอ็นข้อเท้า (Ligament) ที่บาดเจ็บจากการที่ขาแพลงเป็นประจำมานานหลายปี ตอนมาอยู่ที่ญี่ปุ่นช่วงปีแรกๆ ผู้เขียนตกบันได แต่ไม่ได้ไปหาหมอ เพราะคิดว่าค่ารักษาน่าจะแพงอย่างเมืองไทย แต่ในความเป็นจริง ประชากรทุกคนรวมทั้งคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นระยะยาวนั้นจะต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance : 国民健康保険) ซึ่งค่าประกันรายเดือนจะคิดตามรายได้ของเรา เนื่องจากผู้เขียนเป็นนักศึกษาอยู่ในเกณฑ์คนที่มีรายได้ต่ำ ก็จะเสียเพียงเล็กน้อย หากปีไหนทำงานพาร์ทไทม์เยอะมีรายได้มากขึ้น ปีต่อมาค่าประกันสุขภาพก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลทั่วไปในแต่ละครั้งนั้น ตัวผู้เขียนเองอยู่ในเกณฑ์บุคคลทั่วไป1 ซึ่งจะต้องจ่ายเพียง 30% ของค่ารักษาทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ปวดท้องไปหาหมอ หากราคาเต็มของค่าหมอค่ายาอยู่ที่ 10,000 เยน (3,000 บาท) ผู้เขียนจะต้องจ่ายจริงแค่ 3,000 เยน (900 บาท ) ยิ่งไปกว่านั้น ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของที่นี่ครอบคลุมถึงการรักษาฟันด้วย ผู้เขียนเคยไปผ่าฟันคุดพร้อมทำความสะอาดฟัน ตอนที่นั่งรอจ่ายเงินก็ใจเต้นตุบ ๆ ว่าจะต้องเสียเท่าไหร่ (เพราะถ้าไปคลินิกทันตกรรมใกล้บ้านที่เมืองไทยผ่าซี่หนึ่งขั้นต่ำก็ 3,000 บาทแล้ว) ปรากฏว่ารวมค่ายาเบ็ดเสร็จแล้วจ่ายแค่ 2,800 เยน (800 บาท) อีกอย่างที่ไม่เหมือนระบบประกันสังคมหรือบัตรทองของบ้านเราคือ ในการใช้ประกันสุขภาพแห่งชาติญี่ปุ่นนั้นผู้ป่วยมีสิทธิเลือกใช้บริการโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ใดก็ได้ ไม่มีข้อกำหนดว่าใช้สิทธิประกันนี้ได้แค่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน2 และค่าใช้จ่ายแต่ละโรงพยาบาลนั้นไม่ค่อยต่างกัน
กลับมาเรื่องการผ่าตัดเอ็นข้อเท้า อย่างที่กล่าวไปว่าครั้งแรกที่ขาแพลงนั้นผู้เขียนไม่ได้ไปหาหมอ พอเวลาผ่านไปความเจ็บปวดก็ค่อย ๆ น้อยลง แต่ก็ทำให้ลักษณะท่าทางการเดินนั้นผิดท่าไป ผู้เขียนขาแพลงทุกปี พอเดินผิดท่านาน ๆ เข้าก็ลามไปส่วนอื่น ๆ คือมีอาการปวดเอวและเข่า เมื่อเข้าปีที่ 7 ผู้เขียนไปหาเพื่อนซึ่งอยู่ห่างจากหอพักไปประมาณ 80 กิโลเมตร เกิดขาแพลงขึ้นมาอีก แต่คราวนี้อาการหนักมาก เพราะเอ็นหน้าแข้งหลุดด้วย ไม่สามารถเอาเท้าแตะลงพื้นได้เลย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียกรถพยาบาล ซึ่งที่ญี่ปุ่นนั้นไม่มีค่าใช้จ่าย และใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็มาถึง แม้วันนั้นผู้เขียนจะไม่ได้พกเงินสดติดตัวไปก็ตาม คุณหมอแผนกฉุกเฉินบอกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน ไว้หายดีแล้วค่อยมาจ่ายได้ แถมให้ยืมไม้พยุงของโรงพยาบาลโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หลังจากเอ็กซเรย์และปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วคุณหมอก็ได้เขียนจดหมายส่งตัวให้เราไปโรงพยาบาลใกล้บ้านอีกที เพราะวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ มีแต่แผนกฉุกเฉินเท่านั้นที่เปิด ส่วนใหญ่แล้วโรงพยาบาลที่นี่หยุดทำการในวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
หลังจากที่ได้ไปพบหมอกระดูกในวันถัดมานั้น ก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเส้นเอ็นยืดมากเกินไปทำให้ข้อเท้าหละหลวม และทำให้ขาแพลงเรื้อรัง คุณหมอแนะนำให้ลองทำกายภาพก่อน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็ค่อยผ่า ผู้เขียนทำกายภาพไป 6 เดือน แต่ก็เดินไม่ดีขึ้น แถมยังขาแพลงซ้ำอีกรอบ ผู้เขียนจึงตัดสินใจผ่า การผ่าตัดใหญ่นั้นคนที่นี่สามารถยื่นขอใช้สิทธิการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง (High-Cost Medical Expense Benefit : 高額医療費制度)3 อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าค่ารักษาโดยทั่วไปนั้นอยู่ที่ 30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่หากจะต้องผ่าตัดใหญ่หรือนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้น ผู้ป่วยสามารถขอใช้สิทธิการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายราคาสูงนี้ได้ ผู้เขียนรู้จักสิทธินี้จากคุณหมอ แล้วคุณหมอจะบอกให้เราทราบว่าจะต้องไปทำเรื่องขอสิทธิที่ไหนอย่างไร กรณีของผู้เขียนคือไปยื่นที่สำนักงานเขต แล้วทางเขตก็จะออกใบรับรอง เมื่อจะต้องเข้าโรงพยาบาลก็แค่แสดงใบรับรองนี้เท่านั้น ระบบนี้มีไว้เพื่อให้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้ โดยที่ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าอาหารในราคาที่สามารถจ่ายได้
ตาราง 1: ค่าใช้จ่ายของผู้ที่ยื่นขอใช้สิทธิการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง สำหรับบุคคลที่มีอายุกว่าไม่ถึง 69 ปี
เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโกะ ณ ปีงบประมาณ 2563
รายได้ (เยน) | ประเภท | ค่าใช้จ่ายสูงสุด (เยน) | ค่าอาหารต่อมื้อ (เยน) |
มากกว่า 9,010,000 | A | 256,600+ (ค่ารักษาทั้งหมด - 842,000) x 1% <ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป : 140,100> | 460 |
มากกว่า 6,000,000 น้อยกว่า 9,010,000 | I | 167,400 + (ค่ารักษาทั้งหมด - 558,000) x 1% <ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป : 93,000> | |
มากกว่า 2,100,000 น้อยกว่า 6,000,000 | U | 80,100+ (ค่ารักษาทั้งหมด - 267,000) x 1% <ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป : 44,400> | |
น้อยกว่า 2,100,000 | E | 57,600 <ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป : 44,400> | |
ผู้ที่มีรายได้น้อยไม่ได้เสียภาษี | O | 35,400 <ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป : 24,400> | 210 |
ที่มา: เว็บไซต์สำนักงานเขตโกเบ
https://www.city.kobe.lg.jp/a52670/kurashi/support/insurance/kogakuryoyohi.html Accessed on March 10, 2021
ภาพ 1 : อาหารผู้ป่วยวันคริสต์มาส
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตัวเองโดยอ้างอิงจากเกณฑ์ของเมืองโกเบที่อาศัยอยู่ ผู้เขียนเป็นนักเรียนไม่ได้เสียภาษี จึงอยู่ในประเภท O (ดูตาราง 1) ค่าใช้จ่ายสุงสุด (Maximum) ของการใช้สิทธิการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง (กรณีของผู้เขียนคือผ่าเอ็นข้อเท้า นอนโรงพยาบาลหนึ่งสัปดาห์) อยู่ที่ 35,400 เยน (9,900 บาท)4 กล่าวคือ ไม่ว่าผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาลห้าวันสิบวัน จะต้องฉีดยากี่เข็มรักษาจริงกี่แสนกี่ล้านเยน ค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดที่ทางโรงพยาบาลสามารถเก็บจากผู้เขียนได้คือ 35,400 เยน ส่วนค่าอาหารอยู่ที่มื้อละ 210 เยน (60 บาท) หากป่วยจะต้องผ่าตัดนอนโรงพยาบาลหลายครั้งภายในหนึ่งปี ในครั้งที่ 4 เป็นต้นไป จำนวนเงินสูงสุดที่ทางโรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บจากผู้ป่วยประเภท O จะลดลงอยู่ที่ 24,600 เยน (6,900 บาท) อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าค่าใช้จ่ายสูงสุดของผู้ที่ยื่นใช้สิทธินี้นั้นแตกต่างกันไปตามรายได้ของแต่ล่ะคน เมื่อผู้ใช้สิทธิยื่นขอใบรับรองสิทธินี้ที่สำนักงานเขตที่อยู่อาศัย ในใบรับรองนั้นจะแจ้งไว้ชัดเจนว่าเราอยู่ในประเภทไหน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ผู้เขียนนำมายกตัวอย่างนั้นเป็นข้อมูลของเมืองโกเบ ณ ปีงบประมาณ 2563 เท่านั้น
ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของญี่ปุ่นนั้นดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ฉะนั้น ไม่ว่าผู้ป่วยจะจนหรือรวยมากน้อยเท่าใด ก็จะมีสิทธิที่จะได้รับการบริการที่เป็นธรรม ตอนแรกผู้เขียนเองก็กลัว เพราะว่าการเป็นคนต่างด้าวแถมไม่มีรายได้ จะมีปัญญาจ่ายค่ารักษามั้ย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประกันสุขภาพแห่งชาติญี่ปุ่นนั้นใช้ได้ทุกที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย หลังจากได้รับการรักษาผ่าตัดที่โรงพยาบาลญี่ปุ่นแล้ว ผู้เขียนรู้สึกอบอุ่นใจมากที่หมอ พยาบาล และพนักงานทุกแผนกดูแลผู้เขียนเป็นอย่างดี แม้ว่าจะเป็นช่วงโควิดที่ทางโรงพยาบาลงดให้คนภายนอกเข้าเยี่ยม ผู้เขียนซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ป่วยไม่มีความกังวลใด ๆ เลย แม้ทางโรงพยาบาลจะให้ผู้ป่วยเป็นคนตัดสินใจเองว่าอยากจะออกจากโรงพยาบาลเมื่อใด แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยอย่างผู้เขียนที่อาศัยอยู่คนเดียวไม่มีคนช่วยเหลือดูแลที่บ้าน ทางโรงพยาบาลจะเป็นห่วงมากและไม่ปล่อยให้กลับบ้านง่าย ๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าสภาพร่างกายผู้ป่วยจะแข็งแรงพอที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้คงเป็นเพราะระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของที่นี่ที่ทำให้ทั้งทางโรงพยาบาลและผู้ป่วยไม่ต้องกังวลถึงค่ารักษา แต่คำนึงถึงสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก
อ้างอิง
น้ำส้ม เรืองริน
อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์
สิรินทร์ยา พูลเกิด
ณปภัช สัจนวกุล
อมรา สุนทรธาดา
ณปภัช สัจนวกุล
มนสิการ กาญจนะจิตรา
กาญจนา เทียนลาย
อมรา สุนทรธาดา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว
อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
พิมลพรรณ นิตย์นรา
อมรา สุนทรธาดา
สุดปรารถนา ดวงแก้ว