The Prachakorn

ทริปแห่งความโชคดี : ครั้งแรกกับการใช้วัคซีนพาสปอร์ตเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา (ตอนที่ 1)


นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

07 ธันวาคม 2564
684



เมื่อปี 2551 ผมได้รับแจ้งข่าวดีจากผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ผมคือ 1 ใน 4 ของผู้โชคดีจากการจับฉลากทั้งหมด 45 คน ที่ถูกเสนอรายชื่อเพื่อร่วมเป็นตัวแทนจากกว่า 30 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย โอเชียเนีย และแอฟริกา ตอนนั้นรู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้เดินทางไปทวีปแอฟริกา ดินแดนที่ผมรู้จักผ่านสารคดีเท่านั้น ความโชคดีทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 8 ของ INDEPTH NETWORK ณ โรงแรมไวท์แซน เมืองดาเอสซาราม ประเทศแทนซาเนีย ในฐานะตัวแทนผู้คุมงานภาคสนามจากศูนย์ปฏิบัติการวิจัยกาญจนบุรี การเข้าร่วมประชุมทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บข้อมูลภาคสนามมากขึ้น การเก็บข้อมูลที่ดีและถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัยนั้น สามารถใช้เป็นตัวแทนกลุ่มประชากรได้ ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และที่สำคัญผลการวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างแท้จริง สำหรับการเดินทางไปแอฟริกาครั้งแรกของผมนั้น จำเป็นต้องฉีดวัคซีนโรคไข้เหลือง (Yellow fever vaccine) และมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบก่อนเข้าประเทศแทนซาเนีย เพราะเป็นกฎสาธารณสุขระหว่างประเทศ 

ใครจะคิดว่าปี 2564 การเดินทางไปต่างประเทศของทุกคนบนโลกใบนี้จำเป็นจะต้องมีวัคซีนพาสปอร์ต เพื่อยืนยันว่าได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบถ้วนแล้ว หลายประเทศได้เริ่มเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวกันได้อีกครั้ง แต่นักท่องเที่ยวจะต้องมีวัคซีนพาสปอร์ตก่อนออกเดินทางไปต่างประเทศ ผมขอแนะนำให้เตรียมยื่นขอเอกสารวัคซีนพาสปอร์ตไว้แต่เนิ่นๆ เพราะสายการบินน่าจะมีตั๋วโปรโมชั่นราคาถูกมากระตุ้นการเดินทางอย่างแน่นอน โดยสามารถขอเอกสารรับรองผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม หรือเดินทางไปขอเอกสารวัคซีนพาสปอร์ตได้ด้วยตนเองตามหน่วยงานที่กรมควบคุมโรคกำหนดไว้

“ดูแลสุขภาพด้วยนะ เราไม่ได้เป็นหมอหรอก แต่ว่าเราเป็นห่วง” 

 
รูป: ผู้โชคดีทั้ง 4 ท่าน ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภาคสนาม
ภาพโดย: นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์



CONTRIBUTOR

Related Posts
คนไทยไม่เคยทิ้งกัน

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

ซาลซ์บวร์ก (Salzburg) ช่วงโควิด

ขวัญชนก ใจซื่อกุล

โครงสร้างอายุเปลี่ยนสังคม

ปราโมทย์ ประสาทกุล

แรด

วรชัย ทองไทย

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th