ในจังหวัดชายแดนใต้คงไม่มีที่ไหนมีชุดข้อมูลความรุนแรงต่อผู้หญิงดีกว่าสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ. 2489 และพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ให้จัดการแต่งงาน การหย่า การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัวชาวมุสลิมได้ หากเป็นจังหวัดอื่นต้องยกให้ศูนย์พึ่งได้ที่ตั้งอยู่ตามโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่มีการเก็บข้อมูลความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอให้ติดตามแนวโน้มได้
แต่ชุดข้อมูลอาจไม่มีความหมายอะไรถ้าอ่านไม่ออก ไม่มีการจัดการข้อมูล หรือไม่อ่าน “บางส่วน” ที่สำคัญ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสตามปกติบันทึกข้อมูลผู้หญิงที่มาขอรับบริการเป็นภาษายาวี บันทึกด้วยมือในกระดาษ และคิดเฉพาะสัดส่วนผู้ที่ช่วยไกล่เกลี่ยและหย่าขาดได้สำเร็จต่อปี จังหวัดอื่นในชายแดนใต้ก็มีลักษณะการเก็บข้อมูลคล้ายกัน “บางส่วน” ที่หายไปจากการจัดเก็บและวิเคราะห์จึงเป็นข้อมูลความรุนแรงต่อผู้หญิงทางกายและทางใจ สาเหตุที่มีการบันทึกข้อมูลเหล่านี้ เพราะโดยปกติผู้หญิงมักรายงานให้คณะกรรมการทราบเพื่อเพิ่มน้ำหนักความจำเป็นที่ต้องฟ้องหย่า
เนื่องจากความรุนแรงในครอบครัวทางร่างกายและจิตใจเพิ่มมากขึ้นทุกปี คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสจึงตัดสินใจทำตามคำเรียกร้องของเครือข่ายผู้หญิงมุสลิมเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิงภายในสำนักงาน และเริ่มจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบมากขึ้นและบันทึกในคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2561
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลผู้หญิงที่เข้ามาฟ้องหย่าและปรึกษาปัญหาชีวิตครอบครัวที่ศูนย์ให้คำปรึกษาผู้หญิงในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสช่วงก่อนและหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่าปี 2561-2562 อัตราผู้หญิงถูกสามีทำร้ายร่างกายเฉลี่ยอยู่ที่ 24.5% ต่อปี ขณะที่ปี 2563-2564 ซึ่งเป็นปีที่โควิด-19 ระบาด อัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 33% หรือสูงขึ้น 8.5%
ปี 2561 และ 2562 มีจำนวนผู้หญิงเข้ามาปรึกษาและฟ้องหย่าใกล้เคียงกัน เฉลี่ยที่ 380 คนต่อปี เป็นผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายเฉลี่ย 93 คนต่อปี แต่มาในปี 2563 ผู้หญิงเข้ามาปรึกษาและฟ้องหย่าลดลงเหลือ 201 คน ถูกทำร้ายร่างกาย 73 คน และลดลงอย่างมากในปี 2564 ผู้หญิงเข้ามาปรึกษาและฟ้องหย่าเพียง 76 คน คำนวณคร่าว ๆ อาจมีผู้หญิงที่ไม่มาขอความช่วยเหลือสะสมสองปีถึง 480 คนในจังหวัดเดียว
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้เช่นกันว่าอัตราถูกทำร้ายร่างกายไม่ได้เพิ่มขึ้น เพียงแต่ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายรุนแรงเท่านั้นที่เดินทางเข้ามาขอปรึกษา ขณะที่ผู้หญิงคนอื่น ๆ ตัดสินใจชะลอการขอความช่วยเหลือ จำนวนผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายมาปรึกษาลดลงผิดปกติจากสองปีก่อนถึง 44.5% จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากกว่าอัตราการทำร้ายร่างกายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่าจำนวนความรุนแรงไม่ได้ลดลงแต่ผู้หญิงมีเหตุผลอื่นที่ไม่มาขอความช่วยเหลือ ทนอยู่กับความรุนแรง เช่น หลีกเลี่ยงการเดินทางที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ไม่มีค่าเดินทาง หรือวุ่นอยู่กับการแก้ปัญหาปากท้องของครอบครัว
ซารีนา เจ๊ะเลาะ ประธานศูนย์ผู้หญิงให้คำปรึกษาและภรรยาประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส1 ให้ความเห็นว่าในภาพรวมมีผู้หญิงเข้ามาใช้บริการด้านอื่น ๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสลดลงมากเช่นกัน เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดโควิด-19 ในจังหวัดนราธิวาสสูง จึงป้องกันตัวด้วยการเดินทางเท่าที่จำเป็น อีกทั้งความยากจนเพิ่มสูงขึ้น คนไม่มีงานทำมากขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงชะลอการฟ้องหย่าแม้ว่าศูนย์ผู้หญิงและสำนักงานอิสลามจังหวัดเปิดบริการตามปกติ
หากมองไปที่จังหวัดใกล้เคียง อัตราเฉลี่ยของผู้หญิงนราธิวาสถูกทำร้ายร่างกายก่อนช่วงโควิด-19 ระบาดที่ 24.5% ตรงกับที่อัลญาณ์ กุศล และกมลชนก2 สำรวจอนามัยเจริญพันธุ์ในจังหวัดปัตตานีในปี 2554 ที่พบว่าผู้หญิงมุสลิมมีอัตราถูกทำร้ายร่างกายโดยคู่ชีวิตที่ 24.5% เหมือนกัน เท่าที่ทราบไม่เคยมีการสำรวจอัตราความรุนแรงในครอบครัวในจังหวัดนราธิวาสและยะลา ดังนั้น ข้อมูลจากสำนักงานอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสจึงอาจเป็นข้อมูลเทียบเคียงที่ดีที่สุดในขณะนี้ ใช้เป็นข้อมูลฐานก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ จังหวัดยะลาเริ่มมีศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเช่นกัน ในพ.ศ. 2562 ยะลาพบอัตราการถูกทำร้ายร่างกาย 35% สูงกว่าปัตตานีและนราธิวาส
ข้อมูลไม่ได้มีไว้เพื่อรายงานเพียงเท่านั้น แต่เพื่อการปรับปรุงนโยบายและแผนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ประสบปัญหาและความยากลำบาก ที่ผ่านมาคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่เคยส่งต่อกรณีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงให้เจ้าหน้าที่รัฐให้การช่วยเหลือ การที่ผู้หญิงเริ่มต้นทำงานข้างในกับกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาสจึงเป็นข้อต่อให้เริ่มมีการส่งต่อ เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพชายแดนใต้เป็นข้อต่อสำคัญ แต่ยังทำเรื่องส่งต่อได้น้อยเพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีข้อจำกัดหลายด้านทั้งกำลังคน ทรัพยากร และขั้นตอนการทำงาน โดยเฉลี่ยจึงส่งต่อได้เพียง 8 คนต่อปีในช่วง 2561-2563 แต่ในปี 2564 จำนวนเพิ่มขึ้นได้เป็นประวัติการณ์ที่ 18 คน อาจเป็นเพราะความรุนแรงของโควิด-19 และการทำงานใกล้ชิดกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาสมากขึ้น สำนักงานฯ โดยการสนับสนุนจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเริ่มเข้ามาสนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้กับศูนย์ผู้หญิงให้คำปรึกษาตั้งแต่ปี 2564 แต่การช่วยเหลือได้เกือบ 20 คน ยังห่างไกลจากผู้หญิงที่รอการช่วยเหลือ 480 คนในชุมชนหมู่บ้านมากนัก ดังนั้น การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจึงควรถึงคราวซ่อมบำรุงฐานรากของนโยบายสร้างกลไกเชิงรุกในชุมชนป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ดังที่ท่านอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จินตนา จันทร์บำรุง กล่าวแก่คณะผู้มาเยือนจากนราธิวาสเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ว่า “ของขวัญวันสตรีสากลปีนี้ ขอแค่เรื่องนี้ก็พอ”
อ้างอิง
ปราโมทย์ ประสาทกุล
มนสิการ กาญจนะจิตรา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
สุภาณี ปลื้มเจริญ
อภิชัย อารยะเจริญชัย
สิรินทร์ยา พูลเกิด
ขวัญชนก ใจซื่อกุล
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
กาญจนา ตั้งชลทิพย์,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์,อารี จำปากลาย
วรชัย ทองไทย
โซรยา จามจุรี
อมรา สุนทรธาดา
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
อมรา สุนทรธาดา
วรชัย ทองไทย
รศรินทร์ เกรย์
กัญญา อภิพรชัยสกุล
อมรา สุนทรธาดา