The Prachakorn

“การสูงวัยในที่เดิม” เป็นคำตอบหรือไม่ของสังคมสูงวัยในประเทศไทย


ณปภัช สัจนวกุล

20 ตุลาคม 2563
1,255



ปัจจุบันการสูงวัยของประชากรไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากอัตราเกิดที่ลดลงและการที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น สศช. คาดประมาณว่าในปี 2565 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (complete aged society) คือจะมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด แต่หนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตอย่างที่อยู่อาศัยยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ท้าทายคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย ทั้งในแง่ความเพียงพอคุณภาพ และความเหมาะสม

ในเวทีเสวนาวิชาการประเด็นนโยบายและการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ที่จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมนำเสนอผลการศึกษาจากโครงการ “การทบทวนและวิเคราะห์นโยบายรัฐด้านการจัดการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุไทย” เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่า ที่ผ่านมาภาครัฐดำเนินนโยบายด้านการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุอย่างไร และควรจะดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อไปในรูปแบบใด

ผลการศึกษาของผู้เขียน พบว่า แม้สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา แต่นโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เพิ่งปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ “มาตรการรองรับสังคมสูงวัย” ซึ่งการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุและการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็น 2 ใน 4 มาตรการที่รัฐให้ความสำคัญ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ

ในภาพรวม รัฐบาลมีมาตรการ/โครงการด้านการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่หลากหลายภายใต้การดำเนินงานของหลายหน่วยงานแต่โดยรวมแล้วเป็นไปตาม 2 แนวทางหลัก ๆ ด้วยกันคือ (1) แนวทางการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน (institutional-based living) ที่มุ่งเน้นการนำผู้สูงอายุมาอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งในรูปแบบสถานสงเคราะห์และรูปแบบที่พักอาศัยที่มาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร และ (2) แนวทางการส่งเสริมการสูงวัยในที่เดิม (ageing in place) ที่มุ่งเน้นการอยู่อาศัยร่วมกันหลายรุ่นวัย ทั้งในรูปแบบการซ่อมแซมบ้าน เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก หรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่สาธารณะ และรูปแบบการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ตามแนวคิด “การออกแบบเพื่อทุกคน” (universal design) เพื่อให้สามารถอยู่อาศัยในบ้าน ครอบครัว และชุมชนเดิมของตัวเองได้ตลอดชีวิต

แม้ว่าจะมีบางหน่วยงานรัฐได้สนับสนุนแนวทางการสูงวัยในที่เดิมที่เน้นการอยู่อาศัยร่วมกันหลายรุ่นวัยอยู่บ้าง แต่การเทน้ำหนักไปที่แนวทางการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันด้วยการนำผู้สูงอายุมาอาศัยอยู่รวมกันกลับมีความโดดเด่นมากกว่าแนวทางแรกอย่างน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

และแม้ว่าการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันจะมีรูปแบบและเป้าหมายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลางลงมา แต่แนวทางดังกล่าวอาจยังไม่สามารถ “ตอบโจทย์” รูปแบบและความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ได้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงบริบทและเงื่อนไข 4 ประการสำคัญของสังคมไทย ได้แก่ (1) ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณรัฐ (2) บทบาทนำของภาคเอกชนในตลาดที่อยู่อาศัยที่ดูแลกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงอยู่แล้ว (3) รูปแบบการอยู่อาศัยของคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังยึดติดกับที่อยู่อาศัยเดิม และ (4) การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ครอบคลุมและทั่วถึง “ทุกกลุ่มรายได้” โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มักมีทางเลือกอยู่อย่างจำกัด

เป็นไปได้หรือไม่ว่า นโยบายที่สนับสนุนแนวทางการสูงวัยในที่เดิมที่มุ่งเน้นการอยู่อาศัยร่วมกันหลายรุ่นวัยอาจจะเป็น “คำตอบที่เหมาะสมที่สุด” ที่ภาครัฐควรเลือกเป็นทิศทางหลักในการดำเนินนโยบาย จึงอยากชวนผู้อ่านร่วมขบคิดไปด้วยกันว่า “แนวทางแบบไหน คือแนวทางที่ใช่ และเหมาะสมสำหรับสังคมสูงวัยภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดของประเทศไทย?” 

ขอบเขตนโยบายรัฐด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย จำแนกตามรูปแบบที่อยู่อาศัยและระดับรายได้ของผู้สูงอายุ

ขอบเขตนโยบายรัฐด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย จำแนกตามรูปแบบที่อยู่อาศัยและระดับรายได้ของผู้สูงอายุ

ที่มา: สิรินทร์ยา พูลเกิด, ณปภัช สัจนวกุล, ณัฐนี อมรประดับกุล, ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น และประทีป นัยนา. (2563). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยเรื่อง การทบทวนและวิเคราะห์นโยบายรัฐด้านการจัดการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

ภาพปกโดย:  People vector created by pch.vector - www.freepik.com



CONTRIBUTOR

Related Posts
คุกโลก......ล้น

อมรา สุนทรธาดา

ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ครัวเรือนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

กาญจนา เทียนลาย,ศุทธิดา ชวนวัน,ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Highlight ศตวรรษิกชนปี 2024

ศุทธิดา ชวนวัน

บริโภคนิยม

วรชัย ทองไทย

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สังคมสูงวัย อย่ามองแค่อายุ

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th