The Prachakorn

ความเชื่อมโยงของการบริโภคผักและผลไม้ ความปลอดภัยของอาหาร และทัศนคติความเสี่ยงด้านสุขภาพ กับความสุขของคนไทย


ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

15 ธันวาคม 2564
450



งานวิจัยในต่างประเทศจำนวนมากพบความเชื่อมโยงระหว่างความสุขกับการบริโภคผักและผลไม้เพิ่มขึ้น1  และความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติความเสี่ยง (risk attitude) กับความสุข2  โดยคนที่มีความสุขแล้วจะไม่ชอบความเสี่ยง ขณะที่คนที่มีความสุขน้อยจะมีสติน้อยลงในการป้องกันตัวเองจากอันตราย3  ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาในประเด็นดังกล่าวนี้ 

การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางสุขภาพ (ได้แก่ การบริโภคผักและผลไม้ ความปลอดภัยของอาหาร และทัศนคติความเสี่ยงด้านสุขภาพ (health risk attitude)) กับความสุขของคนไทย โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากโครงการศึกษาพฤติกรรมการกินผักและผลไม้ของคนไทย ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มาทำการวิเคราะห์ โดยมีจำนวนตัวอย่างที่วิเคราะห์ทั้งสิ้น 6,955 คน 

จากผลการศึกษานี้ พบว่า คนที่บริโภคผักและผลไม้เพียงพอมีคะแนนความสุขมากกว่าคนที่บริโภคไม่เพียงพอ (คะแนน 7.9 และ 7.6 ตามลำดับ) และผู้ที่บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์มีคะแนนความสุขสูงกว่าผู้ที่มีความถี่ในการบริโภคน้อยกว่า (คะแนน 7.7 สำหรับผัก และ 7.8 คะแนนสำหรับผลไม้) โดยลักษณะทางประชากรมีความสัมพันธ์กับความสุขเช่นกัน โดยคนที่เป็นเพศหญิง มีอายุ 15-29 ปี มีสถานภาพสมรส อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป มีแนวโน้มที่มีคะแนนความสุขมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ  อีกทั้งผู้ที่มีทัศนคติความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับสูง พบค่าคะแนนความสุขเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังพบความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างความกลัวในการบริโภคผักและผลไม้เนื่องจากสารกำจัดศัตรูพืชกับคะแนนความสุข โดยผู้ที่ไม่บริโภคผักและผลไม้ เพราะความกลัวการปนเปื้อนของสารกำจัดศัตรูพืชของผักและผลไม้ มีแนวโน้มมีคะแนนความสุขมากกว่าคนที่กังวลเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืช 

การกินผักและผลไม้เพียงพอ (อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน) แสดงให้เห็นว่า มีความสัมพันธ์กับความสุขของคนไทย4  รวมไปถึงการมีสุขภาพกายที่แข็งแรงด้วย5  ซึ่งอาจสามารถอธิบายได้จากสารอาหารบางชนิดในผักและผลไม้ที่อาจส่งผลต่อความสุขของบุคคลได้ เช่น วิตามิน B ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลในกลุ่มประชากรที่มีสุขภาพดี6  วิตามิน C และ E มีประโยชน์ต่อการแก้อาการซึมเศร้าในกลุ่มประชากรทั่วไป7  และผู้สูงอายุ8 

การศึกษานี้จึงเสนอให้เห็นความสำคัญของการบริโภคผักและผลไม้ให้เพียงพอ (อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน) ตามคำแนะนำ รวมไปถึงการดำเนินนโยบายที่ช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผักผลไม้ และกำหนดมาตรการที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละกลุ่มประชากร ที่อาจมีทัศนคติความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนไทยและส่งเสริมสุขภาพใจที่ดีที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อส่งผลต่อสุขภาพกายโดยรวมให้ดีขึ้นตามมาด้วย 


อ้างอิง

  1. Mujcic, R., and A. J. Oswald. 2016. Evolution of well-being and happiness after increases in consumption of fruit and vegetables. American Journal of Public Health 106 (8):1504–10. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/27400354. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/arti cles/PMC4940663/.
  2. Guven, C., and I. Hoxha. 2015. Rain or shine: Happiness and risk-taking. The Quarterly Review of Economics and Finance 57:1–10. http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/ S1062976914000830
  3. Goudie, R. J. B., S. Mukherjee, J. E. de Neve, A. J. Oswald, and W. Stephen. 2014. Happiness as a driver of risk-avoiding behaviour: Theory and an empirical study of seatbelt wearing and automobile accidents. Economica 81 (324):674–97. doi:10.1111/ecca.12094.
  4. Piqueras, J. A., W. Kuhne, P. Vera-Villarroel, A. van Straten, and P. Cuijpers. 2011. Happiness and health behaviours in Chilean college students: A cross-sectional survey. BMC Public Health 11 (1):443. doi:10.1186/1471-2458-11-443.
  5. Mwinnyaa, G., T. Porch, J. Bowie, and R. J. Thorpe Jr. 2018. The association between happiness and self-rated physical health of African American MEN: A population-based cross-sectional study. American Journal of Men’s Health 12 (5):1615–20. https://www.ncbi. nlm.nih.gov/pubmed/29947566. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6142117/.
  6. Rooney, C., M. C. McKinley, and J. V. Woodside. 2013. The potential role of fruit and vegetables in aspects of psychological well-being: A review of the literature and future directions. Proceedings of the Nutrition Society 72 (4):420–32. doi:10.1017/ s0029665113003388.
  7. Morgan, A. J., and A. F. Jorm. 2008. Self-help interventions for depressive disorders and depressive symptoms: A systematic review. Annals of General Psychiatry 7 (1):13. doi:10.1186/1744-859x-7-13.
  8. Payne, M. E., S. E. Steck, R. R. George, and D. C. Steffens. 2012. Fruit, vegetable, and antioxidant intakes are lower in older adults with depression. Journal of the Academy of Nutrition and Dietetics 112 (12):2022–27. doi: 10.1016/j.jand.2012.08.026.

ที่มา

Phulkerd, S., Thapsuwan, S., Thongcharoenchupong, N., Chamratrithirong, A., & Gray, R. S. (2020). Linking fruit and vegetable consumption, food safety and health risk attitudes and happiness in Thailand: evidence from a population-based survey. Ecology of Food and Nutrition, 60(2), 257-272.    



CONTRIBUTORS

Related Posts
บุหรี่

วรชัย ทองไทย

การเลียนแบบ

วรชัย ทองไทย

ลิ้น

วรชัย ทองไทย

ศีลธรรม

วรชัย ทองไทย

คนไร้บ้านในสิงคโปร์

อมรา สุนทรธาดา

แรด

วรชัย ทองไทย

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

กายิกสุข

วรชัย ทองไทย

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

สุริยาพร จันทร์เจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th