The Prachakorn

ประสบการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เวียนนา ออสเตรีย


รีนา ต๊ะดี

04 สิงหาคม 2564
366



เมื่อฉันมาถึงเวียนนาเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ นอกจากจะได้รับข้อมูลเรื่องการเข้าประเทศในช่วงที่โควิด-19 ระบาดและเรื่องการกักตัวในที่พัก รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เช่นการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังได้รับข้อมูลและคำแนะนำให้ลงทะเบียนเพื่อรอรับวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 อีกด้วย

ในการลงทะเบียนรับวัคซีนสามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์ส่วนกลางของเมืองเวียนนา หรือทางโทรศัพท์ โดยต้องกรอกประวัติส่วนตัว ที่อยู่ในเวียนนา เบอร์โทรศัพท์และอีเมลที่สามารถติดต่อได้ รวมถึงอาชีพ ในเว็บไซต์ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการรับวัคซีน ได้แก่ แผนการฉีดวัคซีนของเวียนนา และข้อมูลเกี่ยวกับ Green Pass หรือใบรับรองการรับวัคซีนซึ่งเป็นไปตามหลักใบรับรองโควิดดิจิทัลลของสหภาพยุโรป (EU Digital COVID Certificate) 

เมื่อลงทะเบียนแล้ว จะได้รับการยืนยันการลงทะเบียน หลังจากนั้นต้องรอจนกว่าจะได้รับการแจ้งเตือนให้นัดหมายรับวัคซีนเมื่อถึงคิวกลุ่มอายุและอาชีพของเรา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอรับวัคซีนให้กับพนักงานในสถานประกอบการของตนเองได้ เนื่องจากฉันเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่นี่ จึงมีโควตาให้ลงทะเบียนรับวัคซีนด้วย โดยจะเชื่อมต่อกับระบบกลางของเวียนนา ฉันได้นัดหมายรับวัคซีนผ่านช่องทางของมหาวิทยาลัยและได้วันนัดหมายเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยวันนัดหมายถูกกำหนดมาจากระบบ พร้อมระบุเวลา สถานที่ และประเภทของวัคซีนที่จะได้รับ รวมถึงเอกสารที่ต้องนำติดตัวไปด้วย ได้แก่ แบบคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นในการรับวัคซีน บัตรประจำตัว (ID) และบัตรประกันสุขภาพ และมีข้อความย้ำเตือนให้สวมหน้ากากแบบ FFP2 ไปด้วยเมื่อไปถึงสถานที่บริการฉีดวัคซีน

เมื่อถึงวันนัดหมาย ฉันเดินทางไปที่สถานบริการฉีดวัคซีนในช่วงเวลานัด พร้อมกับเอกสารต่างๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตรวจสอบเอกสารพร้อมรับบัตรที่มีหมายเลขระบุไว้ คาดว่าเป็นการระบุประเภทวัคซีนที่จะได้รับ จากนั้นไปอีกจุดหนึ่ง เจ้าหน้าที่ขอดูเอกสารและทำสมุดบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนประจำตัวเล่มใหม่ให้ฉัน (ดังรูป) ในนั้นมีพื้นที่ให้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนทุกชนิดที่เคยได้รับรวมถึงวัคซีนโควิด-19 ด้วย จุดต่อไปเป็นเจ้าหน้าที่ที่คอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนและคอยตอบคำถามของผู้มารับวัคซีน เมื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้วฉันจึงเดินต่อไปยังจุดรับวัคซีน ซึ่งมีฉากกั้นแยกเป็นห้องๆ เพื่อความเป็นส่วนตัว คุณหมอให้สัญญาณว่าห้องว่าง ฉันจึงเดินเข้าไปนั่ง คุณหมอรับสมุดบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนประจำตัวของฉันไป และถามฉันว่า “พร้อมไหมครับ” เมื่อฉันตอบว่า “พร้อมค่ะ” คุณหมอก็ทำการฉีดวัคซีนในทันที โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีก็เรียบร้อยโดยที่ฉันไม่รู้สึกเจ็บเลยแม้แต่น้อย คุณหมอแจ้งว่าฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้วพร้อมลงชื่อให้ในสมุดบันทึกและคืนสมุดให้แก่ฉันพร้อมแนะนำให้นั่งรอดูอาการเป็นเวลา 15 นาที ฉันนั่งพักที่จุดเฝ้าดูอาการแล้วไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จึงเดินทางกลับ

ตลอดวันนั้นจนถึงเช้าของอีกวัน ฉันไม่มีอาการป่วยหรืออาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด นอกจากอาการปวดบริเวณที่ถูกฉีดวัคซีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ฉันสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และอาการปวดบริเวณที่ถูกฉีดวัคซีนก็หายไปใน 2-3 วัน โดยในวันที่ 3 ฉันสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติแล้ว

เมืองเวียนนามีแผนการฉีดวัคซีนให้ประชากรทุกกลุ่มอายุและอาชีพภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ โดยปัจจุบันผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนไม่จำเป็นต้องนัดหมายล่วงหน้าแล้ว สามารถเดินเข้าไปยังจุดบริการฉีดวัคซีนที่ตั้งอยู่ในบริเวณต่างๆ ได้เลย 

ปัจจุบันประเทศออสเตรียมีประชากรประมาณ 9 ล้านคน1 มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มแล้วประมาณ 4.98 ล้านคน (ร้อยละ 56.2 ของประชากรประเทศ)2 และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วประมาณ 3.6 ล้านคน (ร้อยละ 40.6 ของประชากรทั้งประเทศ) (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2564) การเร่งฉีดวัคซีนและการเปิดให้มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายและเข้าถึงได้ง่าย ประกอบกับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อโควิดในประเทศออสเตรียลดลงอย่างมาก จากเฉลี่ยประมาณวันละ 3,000 รายในกลางเดือนมีนาคม เป็นเฉลี่ยวันละ 1,300 รายในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมและปัจจุบันเฉลี่ยวันละ 100-200 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564)3

สมุดบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนประจำตัวเล่มใหม่ของฉัน
ภาพโดย: รีนา ต๊ะดี


  1. Austria Population (2021) - Worldometer. (2021). Worldometer. https:// www.worldometers.info/world-population/austria-population/ 
  2. Coronavirus (COVID-19) Vaccinations - Statistics and Research. (2021). Our World in Data. https://ourworldindata.org/covid-vaccinations?country=AUT/
  3. Austria COVID: 651,453 Cases and 10,723 Deaths - Worldometer. (2021). Worldometer. https://www.worldometers.info/coronavirus/country/austria/

ภาพเปิดโดย  https://www.pexels.com/



CONTRIBUTOR

Related Posts
ขยะมือสองกับนักรณรงค์ Freegans

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

Physical Activity Promotion and Collaboration: ประสบการณ์จากการเดินทางเข้าร่วมการประชุมและการเยี่ยมเครือข่าย

โยธิน แสวงดี,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา,ดนุสรณ์ โพธารินทร์,Dyah Anantalia Widyastari

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

มารู้จักวัคซีนโควิด 19

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th